ประวัติชุมชน
ชุมชนหัวทุ่ง-ทุ่งพร้าวพัฒนา แต่เดิมบริเวณที่ตั้งของชุมชนเป็นพื้นที่ราบลุ่มเป็นทุ่งนา และมีต้นมะพร้าวขึ้นอยู่ปลายทุ่งนา มีชาวบ้านมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนที่หัวทุ่งและปลายนาประมาณ 10 หลังคาเรือน ซึ่งปัจจุบันมีบ้านเรือนเกิดขึ้นมากขึ้น จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 100 ปีเศษ ชาวบ้านที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่หัวทุ่งนาและปลายทุ่งนาซึ่งมีต้นมะพร้าวอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า หมู่บ้านหัวทุ่ง-ทุ่งพร้าว จนเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 เทศบาลตำบลท่ายางได้จัดแยกบ้านหัวทุ่ง-ทุ่งพร้าวเป็นอีกหนึ่งชุมชนแยกจากบ้านหนองแขม เป็นชุมชนหัวทุ่ง-ทุ่งพร้าวพัฒนา มีประธานชุมชน คือ นายบรรจบ ศรีสวัสดิ์
สถานที่ตั้ง
ชุมชนหัวทุ่ง-ทุ่งพร้าวพัฒนา ตั้งอยู่ที่ หมู่ 8 ตำบลท่ายาง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี รหัสไปรษณีย์ 76130 ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลท่ายาง ซึ่งมีสำนักงานเทศบาลตั้งอยู่ที่ 888 หมู่ 1 ตำบลท่ายาง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี รหัสไปรษณีย์ 76130 โทรศัพท์ 032-463000-2 กำกับบริหารงานโดย นางนฤมล กิจพ่วงสุวรรณ ตำแหน่ง นายกเทศมนตรี เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบโครงการด้านการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม คือ นางสาววราภรณ์ ทวีศรี ตำแหน่ง พยาบาลชำนาญการ โทรศัพท์ 086-3281583
สภาพพื้นที่
ชุมชนหัวทุ่ง-ทุ่งพร้าวพัฒนา ห่างจากตัวอำเภอเมืองท่ายางประมาณ 6 กิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัดเพชรบุรี ประมาณ 25 กิโลเมตร มีพื้นที่ 1.7 ตารางกิโลเมตร (1,195 ไร่) ปัจจุบันมีประชากรทั้งหมด 550 คน 152 หลังคาเรือน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ ปลูกเผือก เลี้ยงวัว รองลงมาคือ อาชีพรับจ้างทั่วไป พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทุ่งนา ติดถนนเพชรเกษม มีคลองชลประทานสาย 2 ไหลผ่าน
ขนาดชุมชน
ชุมชนขนาดกลาง ประชากร 500 - 1,000 คน
ปัญหา/ความต้องการ
จุดเริ่มต้นของการเป็นชุมชนจัดการขยะ ของชุมชนหัวทุ่ง-ทุ่งพร้าวพัฒนา มาจาก แต่เดิมนั้นในชุมชนมีการรวมกลุ่มเยาวชน ชื่อว่า กลุ่มมหิงสาสายสืบ โดยมีวัตถุประสงค์ของการรวมกลุ่มเพื่อสำรวจและศึกษาระบบนิเวศสภาพแวดล้อมในชุมชน โดยมี นางจันทร์ทิมา ปิ่นหิรัญ (ป้าเหน่ง) เป็นแกนนำสำคัญให้ความรู้แก่เด็กๆ เทื่อมีการทำกิจกรรมต่างๆ เริ่มมีค่าใช้จ่ายในการทำกิจกรรม เช่น ค่าอาหาร เครื่องดื่มแก่เด็กๆ ที่มีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้น ป้าเหน่งจึงปรึกษากับเด็กๆว่าจะหาเงินจากไหนได้บ้าง จึงเห็นว่าในชุมชนมีขยะจำพวกพลาสติกจำนวนมาก จึงชวนกันกับเด็กๆไปเก็บขวดพลาสติกและขยะที่รีไซเคิลได้ตามถังขยะในชุมชนไปขายเพื่อนำเงินมาเป็นส่วนกลางจ่ายค่าอาหารแก่เด็กๆ เมื่อมีเงินเหลือจึงแจกจ่ายให้เด็กๆเก็บไว้เป็นเงินออมของตนเอง และได้ดำเนินการเรื่อยมา ต่อมาเด็กๆ ไม่อยากนำเงินกลับบ้านจึงฝากไว้กับป้าเหน่ง ป้าเหน่งจึงปรึกษากับคนในชุมชนเพื่อร่วมกันหาวีการออมเงินให้เด็กๆ ซึ่งคนในชุมชนมีแนวทางเดียวกันว่า จะก่อตั้งธนาคารขยะชุมชน เพื่อเป็นแหล่งออมเงินของคนในชุมชน และนี่คือจุดเริ่มต้นของการเป็นชุมชนจัดการขยะเรื่อยมา ประกอบกับชุมชนเป็นชุมชนเมืองกึ่งชนบทการเก็บขยะของเทศบาลจะไม่ได้มาจัดเก็บทุกวันส่งผลในเรื่องของขยะล้นถัง ส่งกลิ่นเหม็น และเนื่องจากภายในชุมชนมีการเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ วัวลาน จึงทำให้มีมูลสัตว์ในชุมชนจำนวนมาก ส่งกลิ่นเหม็นและสร้างความไม่สวยงามในชุมชน คณะกรรมการชุมชนจึงได้คิดที่จะหาแนวทางในการจัดการขยะโดยตนเอง
การดำเนินงานการจัดการขยะมูลฝอยของชุมชนปลอดขยะโดยใช้หลัก 3Rs
ทำแผนการดำเนินโครงการจัดการขยะ
ชุมชนหัวทุ่ง-ทุ่งพร้าวพัฒนา มีการจัดทำแผนการดำเนินโครงการจัดการขยะภายในชุมชนที่จะดำเนินการภายใน 3 ปี (2558-2560) ดังนี้
ปี 2558
1. จัดทำข้อตกลงและความร่วมมือในการพัฒนาหมู่บ้านต้นแบบการบริหารจัดการขยะภายในชุมชน
2. จัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้านต้นแบบการบริหารจัดการขยะภายในชุมชน
3. ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพชุมชนในการจัดการขยะมูลฝอยภายในชุมชนอย่างครบวงจร
ปี 2559
- ขับเคลื่อนแผนพัฒนาหมู่บ้านต้นแบบการบริหารจัดการขยะภายในชุมชนโดยการจัดการขยะมูลฝอยภายในชุมชนอย่างครบวงจร
ปี 2560
- จัดตั้งศูนย์เรียนรู้/กลุ่มอาสาสมัคร/ชมรม ในการจัดการขยะมูลฝอยภายในชุมชน
แผนการดำเนินการจัดการขยะในชุมชน ดังนี้
อัตลักษณ์ “ทิ้ง คัดแยก จัดการ คืองานขยะของชุมชน”
เอกลักษณ์ “ชุมชนสะอาด ปราศจากขยะ”
วิสัยทัศน์ “ชุมชนหัวทุ่ง-ทุ่งพร้าวพัฒนา จะเป็นแหล่งศึกษาดูงานด้านการจัดการขยะภายในปี 2560”
พันธกิจ
1. มีการจัดการขยะแต่ละประเภทอย่างเป็นระบบและถูกวิธี
2. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์และเก็บออมขยะพร้อมสร้างมูลค่าเพิ่ม
3. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนและเยาวชนในท้องถิ่นเกี่ยวกับการจัดการขยะ
เป้าหมายการดำเนินการ
1. มีจำนวนสมาชิกธนาคาขยะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10 ต่อปี
2. มีการขยายผลสู่โรงเรียน จำนวน 2 โรงเรียน
ผลสำเร็จของการดำเนินงานชุมชนปลอดขยะ
1. ความรู้ ความเข้าใจ ความมีวินัย และจิตสำนึกในการดำเนินกิจกรรมการจัดการขยะมูลฝอยของชุมชน
คณะทำงานโครงการจัดการขยะชุมชนหัวทุ่ง-ทุ่งพร้าวพัฒนา และ คนในชุมชน มีความรู้ความเข้าใจด้านการจัดการขยะเป็นอย่างดี จากดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่ร่วมกันคิด ร่วมกันวางแผนดำเนินการร่วมกันสำรวจเก็บข้อมูล เข้าร่วมการอบรมให้ความรู้ด้านการจัดการขยะ จากหน่วยงานต่างๆ จากการศึกษาดูงานชุมชนต้นแบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และจากประสบการณ์ที่ได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเองอย่าจริงจังและต่อเนื่อง จนสามารถเป็นวิทยากร เป็นแกนนำ เป็นต้นแบบขยายผลไปยังชุมชนอื่น สามารถถ่ายทอดความรู้ได้
2. ปริมาณขยะมูลฝอยที่ลดลง
ในช่วงของการเริ่มเข้าสู่โครงการชุมชนปลอดขยะ ได้มีการสำรวจปริมาณขยะในชุมชน พบว่าปริมาณขยะในชุมชนทุกประเภทมีปริมาณมาก ไม่มีการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี เกิดปัญหาถังขยะล้น หน้าบ้านไม่น่ามอง ไม่เป็นระเบียบ ไม่มีแหล่งและจุดรวมขยะเป็นที่เป็นทาง ใครอยากทิ้งตรงไหนก็ทิ้ง ในปี 2557ปริมาณขยะเฉลี่ยทั้งหมด 325 กิโลกรัมต่อวันและเมื่อได้เริ่มเข้าสู่โครงการชุมชนปลอดขยะ ได้มีการดำเนินการจัดการขยะในชุมชน พบว่า ครัวเรือนมีการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี มีการจัดระเบียบหมู่บ้านและชุมชนเป็นระเบียบเรียบร้อย น่าอยู่น่ามอง และปริมาณขยะก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปี 2560 ปริมาณขยะลดลง คิดเป็นร้อยละ 84.46 จากปี 2557 รายละเอียดตามตาราง
3. การเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน
กิจกรรมที่แสดงให้เห็นถึงการมีความรู้และความเข้าใจในการจัดการขยะอย่างชัดเจนคือ สามารถถ่ายทอดความสู่ผู้อื่นได้ โดยการเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่ผู้อื่น มีความสามารถในการถ่ายทอดและนำเสนอ มีการจัดทำฐานการเรียนรู้การจัดการขยะอย่างครบวงจรในชุมชน รวมถึงมีการนำเสนอภูมิปัญญาของชุมชน ปราชญ์ชุมชน
การนำเสนอความรู้ประสบการณ์ของชุมชนโดยที่ไม่ลืมสอดแทรก วัฒนธรรม ประเพณีของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการละเล่น อาหาร ความเป็นอยู่ โดยเฉพาะการละเล่นแห่เรือบกที่เป็นวัฒนธรรมการละเล่นที่ชุมชนอนุรักษ์
คณะทำงานโครงการจัดการขยะชุมชนหัวทุ่ง-ทุ่งพร้าวพัฒนา และ คนในชุมชน มีศักยภาพในการถ่ายทอดกระบวนการการจัดการขยะ มีความรู้ความเข้าใจด้านการจัดการขยะเป็นอย่างดี จากประสบการณ์ที่ได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเองอย่าจริงจังและต่อเนื่อง จนสามารถเป็นวิทยากร เป็นแกนนำ เป็นต้นแบบขยายผลไปยังชุมชนอื่น สามารถถ่ายทอดความรู้ได้ ได้รับการรับรองจากหน่วยงานต่างๆ
ชุมชนหัวทุ่ง-ทุ่งพร้าวพัฒนามีแหล่งเรียนรู้ชุมชนปลอดขยะ ที่มีประสิทธิภาพมีความพร้อมในการเป็นแหล่งเรียนรู้ โดยเป็นฐานการศึกษาดูงานรวมทั้งการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีในชุมชน แบ่งเป็นฐานและเครือข่ายคณะกรรมการโครงการเป็นผู้ดูแลและเป็นวิทยากรประจำฐานการเรียนรู้ ดังนี้
ฐานที่ 1 ฐานเรียนรู้น้ำหมักชีวภาพ 7 รส
ฐานที่ 2 พลังงานชีวมวล
ฐานที่ 3 ธนาคารใบไม้
ฐานที่ 4 ร้านค้า no plastic no foam
ฐานที่ 5 สิ่งประดิษฐ์จากขยะทั่วไป
ฐานที่ 6 น้ำยาเอนกประสงค์
ฐานที่ 7 เหนื่อยนัก พักก่อน
ฐานที่ 8 ธนาคารขยะรีไซเคิล