ชุมชนหัวทุ่ง-ทุ่งพร้าวพัฒนา ตำบลท่ายาง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี มีการบริหารจัดการขยะตั้งแต่ระดับครัวเรือนจนถึงระดับชุมชนโดยใช้หลัก 3Rs โดยมีวิธีการดังนี้
Reduce ลดการใช้ ลดการเกิดขยะ
จากการที่ประชาชนได้รับการอบรมและการสร้างความตระหนักในการลดการใช้ ลดการก่อขยะมาอย่างต่อเนื่องจากการได้รับองค์ความรู้จากหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันกับชุมชนมีความตระหนักในการลดการก่อเกิดขยะ ชุมชนจึงเกิดกิจกรรมลดการใช้ถุงพลาสติกและกล่องโฟม ซึ่งจากการวิเคราะห์แหล่งที่มาก็พบว่าส่วนใหญ่มาจากร้านค้าทั้งภายในและภายนอกชุมชน จึงเริ่มต้นขอความร่วมมือจากร้านค้าภายในชุมชนในการลดการใช้ถุงพลาสติกและกล่องโฟม โดยจัดกิจกรรมร้านค้า no plastic no foam ชุมชนหัวทุ่ง-ทุ่งพร้าวพัฒนา มีการรณรงค์ลดละเลิก การใช้ถุงพลาสติก โดยได้ทำสัญญากับร้านค้าในชุมชนให้ชาวบ้านลดการใช้พลาสติก และโฟม โดยใช้ถุงผ้าและปิ่นโต ในการมาซื้ออาหารแทน มีข้อตกลงว่าหากสมาชิกใช้ปิ่นโตในการบรรจุอาหาร เช่น ข้าว หรือ ก๋วยเตี๋ยว จะได้ลดราคาอาหาร 5 บาท ทั้งนี้ร้านมีบริการปิ่นโตให้ยืม หรือกิจกรรม สะสมแสตมป์หิ้วปิ่นโต ครบ 10 ดวงฟรีอาหาร 1 ครั้ง ซึ่งได้ประโยชน์ทุกฝ่าย แม่ค้าก็จะลดต้นทุนจากการซื้อถุงพลาสติกและประหยัดน้ำจากการล้างจาน ลูกค้าจะได้ส่วนลดจากการซื้อสินค้า ขยะในชุมชนก็ลดลง ซึ่งวิธีการนี้เป็นการลดใช้ถุงพลาสติกตั้งแต่ต้นทางเนื่องจากถุงพลาสติกส่วนใหญ่มาจากร้านค้า หากร้านค้าสามารถลดการใช้ถุงพลาสติกแล้วก็จะทำให้ชุมชนมีปริมาณขยะจากถุงพลาสติกลดลง นอกจากนี้ยังรณรงค์การใช้วัสดุจากธรรมชาติในการบรรจุอาหารร้อนเพื่อลดการใช้พลาสติกและสารก่อมะเร็ง คนในชุมชนใช้กระเช้าไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้า ซึ่งได้มีการประกาศนโยบายการงดใช้ถุงพลาสติกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563
นอกจากความร่วมมือจากร้านค้าแล้ว ประชาชนในชุมชนก็ให้ความสนใจและให้ความร่วมมือในการลดการใช้ถุงพลาสติก พลาสติก และโฟม ในระดับครัวเรือน เช่น การใช้ปิ่นโตในการบรรจุอาหารไปรับประทานระหว่างการทำงาน หรือการนำถุงผ้าและกระเช้าไปซื้อของและจ่ายตลาดซึ่งถือว่าเป็นการลดขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งมีแนวโน้มในการให้ความร่วมมือมากขึ้น
Reuse การใช้ซ้ำ แปรสภาพ ยืดอายุการใช้
กิจกรรมการใช้ซ้ำของชุมชนหัวทุ่ง-ทุ่งพร้าวพัฒนา มีกิจกรรมที่หลากหลายในการใช้ซ้ำ เช่น การใช้ยางรถเก่าเสื่อมสภาพแล้ว ถูกทิ้งข้างทับถมกันจากอู่รถเกิดเป็นขยะกองมหึมา มาใช้ซ้ำแปรสภาพเป็นกระถางปลูกต้นไม้ และชุดเก้าอี้ ลดการเผาขยะสร้างมลพิษในชุมชนและก่อเกิดรายได้จากการจำหน่าย จนทำให้ปัจจุบันกองขยะจากยางรถยนต์ที่เสื่อมสภาพหมดไปสร้างภูมิทัศน์ที่ดีในชุมชน การใช้ฝาตะแกรงพัดลมที่ไม่ใช้แล้ว สายยางเก่าที่ขาด เสื่อมสภาพ มาประดิษฐ์เป็นตะแกรงคัดแยกขยะใช้ในครัวเรือน การใช้ขวดน้ำแบบเติมเผื่อลดปริมาณการใช้ขวดพลาสติก การทำกระถางต้นไม้จากเศษผ้า
Recycle การนำกลับมาใช้ใหม่
ชุมชนหัวทุ่ง-ทุ่งพร้าวพัฒนา มีการส่งเสริมการคัดแยกขยะตั้งแต่ครัวเรือนโดยส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนมีอุปกรณ์คัดแยกขยะตามบริบทของครัวเรือน ขยะแต่ละประเภทถูกจัดการไปตามวิธีการที่จะกล่าวต่อไป และขยะ รีไซเคิล จะถูกนำมาจำหน่ายให้กับธนาคารขยะชุมชน โดยจัดตั้งธนาคารขยะรีไซเคิลเริ่มจัดตั้งวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2557 โดยมีคุณลุงทวี นุ่มสวน เป็นผู้จัดการธนาคารขยะ เริ่มต้นมีสมาชิกจำนวน 15 หลังคาเรือน ต่อมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มาอบรมให้ความรู้ ทำความเข้าใจกับชุมชนได้เห็นประโยชน์ของการคัดแยกขยะจึงทำให้เกิดสมาชิกเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ โดยวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งธนาคารขยะ ดังนี้
-
เพื่อให้ประชาชนรู้จักและเข้าใจการคัดแยกขยะ
-
เพื่อลดปริมาณขยะในชุมชน และทราบข้อมูลปริมาณขยะที่แน่นอน
-
เพื่อสร้างรูปแบบการจัดการขยะโดยสมาชิกในชุมชน ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการ
-
เพื่อให้สมาชิกมีรายได้มีเงินออมจากการเพิ่มมูลค่าของขยะ
-
เพื่อให้ชุมชนไร้ซึ่งมลพิษ ไม่จุด ไม่เผาขยะ
-
เพื่อลดภาระการเก็บขยะของเทศบาล
-
เพื่อให้ชุมชนเกิดความสามัคคี เข้าใจการทำงานเป็นกลุ่ม
การดำเนินงานของธนาคารขยะ ให้สมาชิกนำขยะที่คัดแยกแล้วนำมาฝากไว้ที่ธนาคารขยะ ซึ่งทางธนาคารรับฝากขยะที่ชาวบ้านได้คัดแยกทุกบ่ายวันเสาร์-อาทิตย์ รายได้และส่วนต่างจากการจำหน่ายขยะรีไซเคิล คณะกรรมการจะนำมาจัดสรรปันผลแก่สมาชิกและซื้อของขวัญให้แก่สมาชิกในเทศกาลต่างๆเพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการดำเนินงานต่อไป ซึ่งการดำเนินการของธนาคารขยะรีไซเคิลมีแนวโน้มขยะลดลงเรื่อยๆ จนปัจจุบันเปิดทำการเดือนละ 2 ครั้ง เนื่องจากขยะมีปริมาณลดลงจากความตระหนักของประชาชนในชุมชนที่ลดการใช้และรู้จักวิธีการจัดการขยะที่ถูกวิธี