ชุมชนหัวทุ่ง-ทุ่งพร้าวพัฒนา มีการจัดการขยะมูลฝอยทั้ง 4 ประเภท
โดยมีเส้นทางและการจัดการจัดการขยะแต่ละประเภท แสดงเป็นแผนผัง ได้ดังนี้
ขยะรีไซเคิล
การจัดการขยะรีไซเคิล เริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการคัด แยก จัดใส่ถังรีไซเคิลที่แต่ละครัวเรือนจัดเตรียมไว้ ขยะรีไซเคิลสามารถนำไปจำหน่ายต่อได้ที่ธนาคาขยะชุมชนหรือหากใครไม่จำหน่ายสามารถนำไปบริจาคได้ในกิจกรรมทอดผ้าป่าขยะที่เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นในชุมชน
ขยะอินทรีย์
ขยะอินทรีย์เป็นขยะที่มีมากที่สุดในชุมชนและในครัวเรือน เนื่องจากภายในชุมชนมีการทำการเกษตร และเลี้ยงสัตว์ จึงทำให้มีมูลสัตว์ในชุมชนจำนวนมากและเกิดเศษเหลือทิ้งทางการเกษตร การจัดการขยะอินทรีย์จากเศษใบไม้ กิ่งไม้ เศษเหลือใช้จากการเกษตร เช่น ใบตะไคร้ ใบกล้วย ใบเผือก เป็นต้น สามารถจัดการได้โดยมีศูนย์กลางรวบรวมกิ่งไม้ ใบหญ้า ในชุมชน เรียกว่า ธนาคารใบไม้ สมาชิกนำใบไม้หรือกิ่งไม้ ที่ตัดแล้วนำไปใส่ไว้ในตะล่อม เพื่อหมักเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้ในชุมชนและสามารถนำเอาปุ๋ยจากการหมักนี้ไปใช้ต่อไป ซึ่งหลังจากที่ทำธนาคารใบไม้ เห็นผลอย่างชัดเจนคือ มีที่ทิ้งเศษใบไม้เป็นที่เป็นทาง เรียบร้อย ต้นไม้ที่เคยเป็นของสาธารณไม่มีผู้ดูแล ได้รับการเอาใจใส่มีผลพลอยดอกออกดอกออกผลให้ชุมชนได้เก็บเกี่ยว
ขยะทั่วไป
ขยะทั่วไปเป็นขยะอีกประเภทหนึ่งที่มีจำนวนมากในชุมชน และไม่สามารถจัดการได้เบ็ดเสร็จในชุมชน เช่น โฟม ถุงพลาสติก เป็นต้น ต้องใช้เวลาในการกำจัดและย่อยสลายหลายปี ชุมชนจึงเน้นวิธีการลดการใช้ของขยะทั่วไป สำหรับขยะทั่วไปที่เกิดขึ้นแล้วชุมชนมีวิธีการในการจัดการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ได้แก่ การใช้ซ้ำ เช่น ถุงพลาสติก และการนำเอาขยะทั่วไปมาแปรสภาพหรือประดิษฐ์เป็นของใช้อื่นๆเพื่อยืดอายุการใช้งานออกไป เช่น การทำกระถางต้นไม้ด้วยผ้าเก่าหรือผ้าขี้ริ้ว การแปรสภาพยางรถยนต์เก่า เป็นต้น ส่วนที่หลงเหลือและไม่สามารถใช้ประโยชน์อะไรได้ อาทิเช่น ถุงพลาสติกที่ขาดไม่สามารถใช้งานได้แล้ว ผ้าอ้อมเด็ก เป็นต้น จัดทิ้งลงถังขยะเทศบาลต่อไป ซึ่งในปัจจุบันมีขยะทั่วไปหลงเหลือจำนวนน้อยมาก โดยเทศบาลจัดเก็บเฉลี่ยเดือนละ 2 ครั้ง สาเหตุมาจากขยะตกค้างในชุมชนมีปริมาณน้อย ผลมาจากการลดการใช้ นั่นเอง
ขยะอันตราย
ขยะอันตราย เป็นขยะที่ชุมชนไม่สามารถจัดการได้เอง จึงมีการส่งเสริมความรู้แก่ประชาชน ให้รู้จักประเภทและวิธีการจัดเก็บขยะอันตราย จากนั้นนำมาไว้ดังจุดรวบรวมขยะอันตรายของชุมชนและส่งมอบไปยังเทศบาลให้กำจัดอย่างเป็นระบบ โดยชุมชนมีจุดรับขยะอันตรายของชุมชนที่ปิดมิดชิดและป้ายความรู้วิธีการจัดเก็บขยะอันตรายที่ถูกต้อง